การวินิจฉัยด้วยภาพ
(Diagnostic Imaging)
ศูนย์ศัลยกรรมสัตว์เลี้ยง กรุงเทพฯ ตะวันออก โรงพยาบาลสัตว์ ปาริชาต สุวินทวงศ์
มีเครื่องมือที่ทันสมัยที่สุดสำหรับการวินิจฉัยด้วยภาพในเขตกรุงเทพฯ ฝั่งตะวันออก
image
การถ่ายภาพรังสีวินิจฉัยระบบดิจิตอล (Computed Radiography)

  • ภาพถ่ายรังสีจะชัดมากกว่าถ่ายแบบเดิม เนื่องจากภาพที่ได้มีความละเอียดขนาด 4K
  • สัตวแพทย์ผู้ตรวจสามารถขยายฟิล์มดิจิตอลได้ง่ายเพียงแค่ลากเมาส์ ทำให้เห็นรอยโรคขนาดเล็กได้ชัดเจนมากขึ้น
  • ภาพดิจิตอลสามารถปรับความสว่าง และความแตกต่างระหว่างความสว่างและความมืดได้ ทำให้แก้ปัญหาภาพมืดหรือสว่างเกินไป หากเทียบกับระบบการถ่ายภาพรังสีปกติ ทำให้สามารถลดปริมาณการถ่ายภาพได้
  • การสร้างภาพดิจิตอลนั้น เกิดขึ้นภายในระยะเวลาไม่ถึงนาที ระยะเวลาการรอผลของสัตวแพทย์และเจ้าของสัตว์จะสั้นลงมาก เมื่อเทียบกับการล้างฟิล์มแบบเดิม
  • เมื่อสามารถปรับแสง และความแตกต่างระหว่างความสว่างและความมืดได้ ทำให้สัตวแพทย์สามารถตรวจเนื้อเยื่อที่มีความหนาแตกต่างกันได้ ด้วยการถ่ายภาพรังสีเพียงครั้งเดียว
  • โรงพยาบาลสัตว์ปาริชาต สุวินทวงศ์ ช่วยลดปัญหาสารเคมีสะสมในสิ่งแวดล้อมเนื่องจากไม่มีการใช้น้ำยาล้างฟิล์ม
การอัลตราซาวน์ (Ultrasound)
การตรวจคลื่นเสียงความถี่สูงเพื่อการวินิจฉัย (Diagnostic ultrasound หรือ sonography หรือ ultrasonography) เป็นการใช้คลื่นเสียงเพื่อสร้างภาพของอวัยวะและโครงสร้างภายในร่างกายเพื่อช่วยในการวินิจฉัยภาวะทางการแพทย์

ในการตรวจนี้ สุนัขและแมวที่เข้ารับการตรวจต้องถูกโกนขนเป็นบริเวณกว้างขึ้นกับตำแหน่งที่ตรวจซึ่งถ้าไม่ได้โกนคลื่นเสียงจะผ่านไปได้ไม่ดีทำให้ไม่สามารถแปลผลได้อย่างแม่นยำ สัตวแพทย์จะใช้เครื่องมือที่เรียกว่า transducer วางลงบนผิวหนังที่มีการทาเจลไว้เครื่องมือนี้จะส่งคลื่นเสียงความถี่ที่สูงกว่าที่มนุษย์ได้ยินซึ่งจะสะท้อนเนื้อเยื่อและอวัยวะกลับมา ก่อนที่จะทำการวิเคราะห์คลื่นสะท้อนและแปลงมาเป็นภาพแสดงบนหน้าจอ
ข้อบ่งใช้ทั่วไปของอัลตราซาวด์ ได้แก่
  •  ตรวจหาความผิดปกติในช่องท้องต่างๆ เช่น นิ่วในไต, นิ่วในถุงน้ำดี, เนื้องอกในอวัยวะภายในช่องท้องเพื่อยืนยันกับการตรวจอื่นๆ ว่าพบก้อนเนื้อ ก้อนเนื้อที่พบเป็นก้อนเนื้อประเภทใด เป็นส่วนของอวัยวะใด หรือติดต่อกับอวัยวะใดบ้าง และใช้ติดตามดูความเปลี่ยนแปลงของโรค เป็นต้น
  • เพื่อดูลูกสัตว์ในครรภ์ว่ายังมีชีวิตหรือไม่ และทำการนับจำนวนตัวลูก แต่จะไม่แม่นยำเท่ากับการถ่ายภาพรังสี
  •  เพื่อช่วยในการเจาะน้ำหรือเซลล์ในอวัยวะที่สงสัยเพื่อการรักษาและการวินิจฉัยเพิ่มเติมให้แม่นยำ
  •  ตรวจหาความผิดปกติในช่องอกเพื่อประเมินดูความผิดปกติของเส้นเลือดดำ, เส้นเลือดแดง รวมถึงหัวใจซึ่งการตรวจหัวใจและหลอดเลือด คือวิธีที่เรียกว่า  Echocardiography
  • ตรวจดูเส้นประสาท กล้ามเนื้อ เอ็นและกระดูกได้ และช่วยสัตวแพทย์ในการวางยาเฉพาะจุด

image
การตรวจคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจ (Echocardiogram)

หรือเรียกสั้นๆว่า “Echo” คือการอัลตราซาวด์ช่องอกโดยหลักการส่งคลื่นเสียงที่ปลอดภัยเข้าไปในช่องอกแล้วรับเสียงที่สะท้อนออกมาไปแปลเป็นภาพให้เห็นบนจอ ซึ่งจะแสดงถึงรูปร่าง ขนาด การทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจ และลิ้นหัวใจ ภาพของหัวใจจะถูกบันทึกไว้ เพื่อให้แพทย์สามารถเปิดดูผลการตรวจและใช้วินิจฉัยโรคภายหลังได้อีก การตรวจจะใช้เวลาโดยประมาณ 20 - 40 นาที สัตว์บางตัวอาจจะต้องทำการวางยาซึมร่วมด้วย เมื่อได้ผลการตรวจแล้วสัตวแพทย์ผู้ดูแลจะอธิบายให้ทราบถึงสมรรถภาพหัวใจและแนะนำแนวทางการ ตรวจรักษาที่เหมาะสมสำหรับสัตว์เลี้ยงต่อไป

การตรวจวิธีนี้เป็นการตรวจเพื่อ
1. ดูขนาดของห้องหัวใจว่ามีภาวะหัวใจโต (Cardiomegaly) หรือไม่ ปัจจุบันถือว่าเป็น Gold Standard ในการประเมินภาวะหัวใจโตในสัตว์เลี้ยง ซึ่งดีกว่าการถ่ายภาพรังสีช่องอกแต่สัตวแพทย์จะใช้ทั้ง 2 วิธีนี้ประกอบกัน
2. ใช้ประเมินความหนาของกล้ามเนื้อหัวใจ แรงการบีบตัวของกล้ามเนื้อหัวใจว่ามีภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรงหรือไม่
3. การทำงานของลิ้นหัวใจเพื่อประเมินดูการทำงานของลิ้นหัวใจว่ามีโรคของลิ้นหัวใจตีบหรือลิ้นหัวใจรั่วหรือเปล่า
4. ภาวะน้ำในเยื่อหุ้มหัวใจ (Pericardial effusion) และเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ (Pericarditis) ทั้งแบบเฉียบพลันและแบบเรื้อรัง ภาวะมีน้ำในช่องเยื่อหุ้มหัวใจจนทำให้เกิดการบีบรัดหัวใจ
5. ดูเนื้องอกในผนังหัวใจ หรือโรคที่เกิดขึ้นภายในห้องหัวใจ เช่น ว่ามีก้อนเนื้อหรือก้อนลิ่มเลือดในห้องหัวใจหรือลักษณะของลิ้นหัวใจติดเชื้อหรือไม่ สัตวแพทย์จะทำร่วมกับการเจาะของเหลวเพื่อตรวจลักษณะของเหลว เซลล์ประกอบกัน
6. ใช้ประเมินดูโรคของหลอดเลือดแดงใหญ่ส่วนต้น
7. ใช้ประเมินความดันเลือดในห้องหัวใจ
8. โรคหัวใจแต่กำเนิด (congenital heart disease)

MRI (Magnetic resonance imaging)

การตรวจวินิจฉัยด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าเป็นเทคนิคการสร้างโดยปรับสนามแม่เหล็กไฟฟ้าของไฮโดรเจนอะตอมของน้ำทั้งหมดที่อยู่ในร่างกายภาพเพื่อให้สร้างภาพ 3 มิติโดยสามารถแสดงความแตกต่างของเนื้อเยื่อประเภทต่างๆ ได้ การทำ MRI อาจทำร่วมกับการฉีดสารทึบรังสี โดยสัตวแพทย์ต้องวางยาสลบสัตว์เพื่อให้สัตว์เข้าอุโมงค์เพื่อสร้างภาพ การตรวจวิธีนี้ทำเพื่อประกอบการวินิจฉัยหาความผิดปกติของร่างกายและการวางแผนผ่าตัดต่อไป
การตรวจที่นิยมส่งตรวจได้แก่
• สมอง
• กระดูกสันหลังและข้อต่อต่างๆ
• ช่องท้องทั้งหมด

Endoscope

    Endoscope คือการส่องกล้องสอดเข้าไปในร่างกายเพื่อตรวจดู วินิจฉัยสาเหตุ เก็บชิ้นเนื้อและรักษาความผิดปกติ
กล้องส่องตรวจถูกสอดเข้าสู่ร่างกายโดยผ่าน:
โพรงจมูก
  - ตรวจระบบทางเดินหายใจส่วนบน สำหรับสัตว์ป่วยที่มีอาการจามเรื้อรัง มีน้ำมูกเป็นหนองหรือเลือด
ปาก
  - ตรวจระบบทางเดินหายใจส่วนล่างโดยเข้าสู่ท่อลมใหญ่และหลอดลม สำหรับสัตว์ป่วยที่มีอาการไอเรื้อรัง หายใจลำบาก เยื่อเมือกคล้ำ
  - ตรวจระบบทางเดินทางเดินอาหารโดยสอดเข้าหลอดอาหาร กระเพาะและลำไส้เล็กส่วนต้นสำหรับสัตว์ป่วยที่มีอาการอาเจียนและท้องเสีย
ทวารหนัก
  - เพื่อตรวจระบบทางเดินทางเดินอาหารโดยเข้าไส้ตรง ลำไส้ใหญ่สำหรับสัตว์ป่วยที่มีอาการท้องเสีย
ท่อนำปัสสาวะ ช่องคลอด
  - เพื่อตรวจระบบทางเดินทางเดินปัสสาวะและส่วนปลายของระบบสืบพันธุ์สำหรับสัตว์ป่วยที่มีอาการฉี่เป็นเลือด ฉี่กระปิดกระปอย หรือสงสัยเนื้องอกในกระเพาะปัสสาวะ

**โรงพยาบาลสัตว์ปาริชาต สุวินทวงศ์มีทีมงานพร้อมบริการที่จะนำสัตว์เลี้ยงไปรับการวินิจฉัยด้วยการตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า,เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ที่โรงพยาบาลสัตว์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน

 

CT-Scan

CT-Scan คือ การตรวจวินิจฉัยโรคด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ การตรวจนี้อาจทำร่วมกับการฉีดสารทึบรังสีเข้าหลอดเลือดดำเพื่อดูการทำงานของเนื้อเยื่อในอวัยวะแล้วใช้คอมพิวเตอร์สร้างเป็นภาพ 3 มิติของอวัยวะภายในร่างกายโดยวิธีการนี้จะได้ภาพที่มีความละเอียดสูงกว่าการเอกซเรย์แบบธรรมดา โดยสัตวแพทย์ต้องวางยาสลบสัตว์เพื่อฉายรังสีเอกซเรย์ในอุโมงค์เพื่อสร้างภาพ การตรวจวิธีนี้ทำเพื่อประกอบการวินิจฉัยหาความผิดปกติของร่างกายและการวางแผนผ่าตัดต่อไป
โรงพยาบาลสัตว์ปาริชาต สุวินทวงศ์มีทีมงานพร้อมบริการที่จะนำสัตว์เลี้ยงไปรับการวินิจฉัยด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ที่โรงพยาบาลสัตว์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน
• สมอง
• ช่องอก ปอด หัวใจ
• อวัยวะในช่องท้องทั้งหมด เช่น ตับ ม้าม ไต ต่อมน้ำเหลือง ลำไส้
• กระดูก

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้