ฮีทสโตรก หรือ โรคลมแดด ภัยร้ายที่มาช่วงหน้าร้อน

Last updated: 10 เม.ย 2566  |  236 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ฮีทสโตรก หรือ โรคลมแดด ภัยร้ายที่มาช่วงหน้าร้อน

"ฮีทสโตรก (Heat Stroke)" หรือ "โรคลมแดด" เกิดจากอากาศที่มีอุณหภูมิสูงขึ้น จนทำให้เกิดภาวะช็อคจากความร้อนสูง และสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งกับคนหรือสัตว์เลี้ยง ซึ่งถ้าเกิดในสัตว์เลี้ยงโดยเฉพาะสุนัขถือว่าเสี่ยงมากๆ เพราะน้องๆ ไม่สามารถพูดหรือบอกกล่าวให้เจ้าของรับทราบได้ ดังนั้นเราจึงควรสังเกตอาการ และป้องกันให้ดี เนื่องจากโรคฮีทสโตรกหรือโรคลมแดดอันตรายมากจนถึงขั้นอาจทำให้สุนัขเสียชีวิตได้

 

สาเหตุที่ทำให้เกิดฮีทสโตรก (Heat Stroke) หรือโรคลมแดด

-สุนัขอยู่ในสถานที่ที่มีอากาศร้อนมาก มีความชื้นสูง อากาศไม่ถ่ายเท ตากแดดเป็นเวลานาน และไม่มีน้ำดื่มเพียงพอ

-สุนัขที่มีปัญหาตีบแคบของทางเดินหายใจส่วนต้น และสุนัขพันธุ์หน้าสั้น เช่น อิงลิชบูลด็อก เฟร้นช์ บูลด็อก หรือปั๊ก ฯลฯ

-สุนัขพันธุ์ใหญ่ที่มีขนยาวหนา เช่น ไซบีเรียน ฮัสกี้ อลาสกัน เมลามิวท์ เซนต์เบอร์นาร์ด ปอมเมอร์เรเนียน ฯลฯ

-ให้สุนัขทำกิจกรรมหรือการออกกำลังกายที่หนักเกินไป

-สุนัขที่มีโรคเกี่ยวกับกล้ามเนื้อ ปัญหาเกี่ยวกับหัวใจ หรือเคยมีประวัติโรคลมแดดมาก่อน รวมไปถึงมีภาวะอัมพาตของคอหอย และกล่องเสียง มีปัญหาเกี่ยวกับโรคหลอดเลือด และระบบประสาท


วิธีสังเกตอาการฮีทสโตรก (Heat Stroke) หรือโรคลมแดด

-สัมผัสที่ตัวของสุนัข หากพบว่าอุณหภูมิของน้องสูงผิดปกติให้นำปรอทวัดไข้มาวัด ถ้าวัดแล้วเกิน 39 องศาฯ ให้รีบนำไปพบแพทย์โดยด่วน

-ปัสสาวะน้อยหรือแทบไม่ปัสสาวะเลย มีอาการอาเจียน ถ่ายเหลวหรือถ่ายเป็นเลือด

-จมูกแห้ง เหงือกที่มีสีแดงเข้มเปลี่ยนเป็นสีน้ำเงินหรือม่วง บางตัวอาจมีเลือดออกเป็นจุดตามลำตัว และอาจมีน้ำลายไหลเยอะ หายใจถี่ปนหอบ

-ร่างกายมีอาการเหนื่อยล้าอ่อนเพลีย เดินไม่ตรงหรือเดินโซเซไปมา สับสนมึนงง และกล้ามเนื้อสั่นกระตุก

-ชีพจรอ่อน ช็อก หมดสติ หัวใจหยุดเต้นหรือหยุดหายใจ


วิธีดูแล และป้องกันฮีทสโตรก (Heat Stroke) หรือโรคลมแดด

-นำสุนัขออกจากบริเวณที่มีความร้อนสูง มาอยู่ในที่ร่ม อากาศถ่ายเทสะดวก อาจเปิดพัดลมหรือพาน้องเข้าไปอยู่ในห้องแอร์

-ลดอุณหภูมิร่างกายสุนัข เช่น อาบน้ำ การเช็ดตัวด้วยผ้าขนหนูชุบน้ำเย็น แล้วเป่าตัวให้แห้งด้วยพัดลม (ในการลดอุณหภูมิไม่ควรใช้น้ำแข็งหรือน้ำที่เย็นจัด หรือนำน้องไปแช่ในน้ำเย็นทั้งตัว เพราะจะทำให้หลอดเลือดส่วนปลายหดตัว และจะไปชะลอกระบวนการลดความร้อนของร่างกาย)

-ตรวจเช็กอุณหภูมิร่างกายของสุนัข เพราะเมื่ออุณหภูมิลดลงถึง 39 องศาฯ ให้หยุดเช็ดตัวแล้วหันมาเช็กอุณหภูมิน้องทุกๆ 10 นาที ใน 2-3 ชั่วโมงต่อมา ว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติหรือไม่

-เมื่อสุนัขเริ่มมีอาการดีขึ้น ให้ค่อยๆ ดื่มน้ำทีละน้อย เพื่อปรับลดอุณหภูมิในร่างกายต่อ แต่ไม่ควรบังคับ หากสุนัขไม่ยอมดื่มด้วยตัวเอง

-เมื่ออุณหภูมิสุนัขกลับมาเป็นปกติแล้ว ให้พาน้องไปพบสัตวแพทย์เพื่อตรวจร่างกายอีกครั้ง เนื่องจากอาจมีภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงเกิดขึ้นกับอวัยวะภายใน เช่น ภาวะเลือดแข็งตัวทั่วร่างกาย สมองบวมน้ำ หรือมีภาวะไตวาย เพราะหากเกิดโรคเหล่านี้ขึ้นมาจะได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที


สุดท้ายนี้ หากสุนัขยังไม่มีอาการดีขึ้น ควรรีบนำไปโรงพยาบาลสัตว์เพื่อพบสัตว์แพทย์โดยด่วน เพราะหากมาถึงช้า โอกาสที่น้องจะรอดชีวิตก็จะยิ่งน้อยลง

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้